บทที่ 12 "การบัญชีบนอินเทอร์เน็ต"
![](https://static.wixstatic.com/media/d679c4_fc6db1bb21434df28d6aa9e7678dbf80~mv2.jpg/v1/fill/w_385,h_256,al_c,lg_1,q_90/d679c4_fc6db1bb21434df28d6aa9e7678dbf80~mv2.webp)
ความหมายของอินเทอร์เน็ต (Internet)
อินเทอร์เน็ต เป็นระบบของการเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมไปทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการข้อมูลข่าวสาร เช่น การโอนแฟ้มข้อมูล ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ อินเทอร์เน็ตเป็นวิธีการเชื่อมโยงข่ายงานคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ซึ่งขยายไปอย่างกว้างขวางเพื่อการเข้าถึงข้อมูลของแต่ละระบบที่มีส่วนร่วมกันอยู่ (กิดานันท์ มลิทอง. 2540:321)
อินเทอร์เน็ต เป็นคำย่อของ Inter connection network หมายถึง เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเชื่อมโยงเครือข่ายย่อยจำนวนมากมายมหาศาล นับตั้งแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ใช้งานภายในบ้านและสำนักงานไปจนถึงคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่แบบเมนเฟรมในโรงงานอุตสาหกรรม และ อินเทอร์เน็ตสามารถทำให้คนเราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลก (ถนอมพร ตันพิพัฒน์. 2539:11)
จากที่กล่าวมานั้นสรุปได้ว่า อินเทอร์เน็ต เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเข้าด้วยกัน โดยใช้มาตรฐานเดียวกัน ทำให้ทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงกันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งเป็นแหล่งความรู้ขนาดใหญ่ให้ผู้ที่สนใจได้ใช้ในการการค้นคว้าศึกษาวิจัย ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการในการค้นคว้าอย่างไร้ข้อจำกัดในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ
ประวัติความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต
อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ซึ่งเริ่มก่อตั้งโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา อินเทอร์เน็ตในยุคแรก ๆ ประมาณปี พ.ศ. 2512 เป็นเพียงการนำคอมพิวเตอร์จำนวนไม่กี่เครื่องมาเชื่อม ต่อกัน โดยสายส่งสัญญาณเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ ภารกิจหลักเพื่อใช้ในงานวิจัยทางทหาร โดยใช้ชื่อว่า อาร์ปา (ARPA : Advanced Research Project Agency)
ปี พ.ศ. 2515 หลังจากที่เครือข่ายทดลองอาร์พาประสบความสำเร็จ ก็ได้มีการปรับปรุงหน่วยงานจาก อาร์ปามาเป็นดาร์พา (Defence Communication Agency) ในปี พ.ศ. 2526 อาร์ปาเน็ตได้แบ่งเป็น 2 เครือข่าย ด้านงานวิจัยใช้ชื่อว่าอาร์ปาเน็ตเหมือนเดิม ส่วนเครือข่ายของกองทัพใช้ มิลเน็ต (MILNET: Military Network) ซึ่งมีการเชื่อมต่อโดยใช้โปรโตคอล TCP/IP (Transmission Control Protocol / Internet Protocol) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติอเมริกา (NSF : National Science Foundation) ได้ให้เงินทุนในการสร้างศูนย์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ 6 แห่ง และใช้ชื่อว่า NSFNET และพอมาถึงในปี พ.ศ. 2533 อาร์ปาเน็ตไม่สามารถที่จะรองรับภาระที่เป็นหลัก (Backbone) ของระบบได้ อาร์ปาเน็ตจึงได้ยุติลง และเปลี่ยนไปใช้ NSFNET และเครือข่ายอื่น ๆ แทนมาจนเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โดยเรียกเครือข่ายว่า อินเทอร์เน็ต โดยเครือข่ายส่วนใหญ่จะอยู่ในอเมริกา และปัจจุบันนี้มีเครือข่ายย่อยมากมายทั่วโลก
อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยการเชื่อมต่อมินิคอมพิวเตอร์ (Mini computer) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ไปยังมหาวิทยาลัย เมลเบิร์นประเทศออสเตรเลีย แต่ในครั้งนั้นยังเป็นการเชื่อมต่อโดยผ่านสายโทรศัพท์ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้ช้าและไม่เป็นการถาวรจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้ทำการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สถาบันเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าด้วยกันเรียกว่า "เครือข่ายไทยสาร" เครือข่ายไทยสารเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการเข้ามาเชื่อมต่อกับเครือข่ายนี้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าอินเทอร์เน็ตในประเทศขณะนั้นยังจำกัดอยู่ในวงการศึกษา และการวิจัยเท่านั้น ไม่ได้เป็นเครือข่ายที่ให้บริการในรูปของธุรกิจ แต่ทางสถาบันนั้น ๆ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ความต้องการในการใช้อินเทอร์เน็ตจากภาคเอกชนมีมากขึ้น การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) จึงได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนเปิดบริการอินเทอร์เน็ตให้แก่บุคคล และผู้สนใจทั่วไปได้สมัครเป็นสมาชิก พร้อมตั้งขึ้นในรูปแบบของบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ เรียกว่า "ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต" หรือ ISP (Internet Service Provider) จนใช้กันมาอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
บริการต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ต
อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันไปทั่วโลก มีผู้เข้ามาใช้บริการมากมายด้วยเหตุนี้ ลักษณะการให้บริการจึงเกิดขึ้นอย่างหลากหลายรูปแบบเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ โดยสามารถสรุปรูปแบบการใช้บริการบนระบบอินเทอร์เน็ตออกเป็น 5 ลักษณะ (ณัฐกร สงคราม. 2543:15-17) คือ บริการด้านการรับส่งข่าวสารและแสดงความคิดเห็น เป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีเครื่องมือในการรับส่งข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นระหว่างผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหลากหลายวิธีการ ดังนี้
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเมล์ (E-mail) มาจากคำว่า Electronic Mail ในภาษาไทย บางครั้งเรียกว่า จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นบริการอินเทอร์เน็ตชนิดหนึ่งที่ผู้คนนิยมใช้มากที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปให้สามารถติดต่อรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว อีเมล์เป็นวิธีการติดต่อสื่อสารด้วยตัวหนังสือแบบใหม่แทนจดหมายบนกระดาษ แต่ใช้วิธีการส่งข้อความในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งไปยังผู้รับอีกเครื่องหนึ่ง โดยมีรายชื่อไปรษณีย์ (Mailing List) เป็นบริการที่ผู้ใช้สามารถเข้ากลุ่มร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อที่ตนเองสนใจผ่านทางอีเมล์ โดยจดหมายที่ส่งเข้าสู่ระบบรายชื่อไปรษณีย์จะถูกส่งไปยังรายชื่อทั้งหมดที่ได้ลงทะเบียนไว้ในระบบ นอกจากนี้ยังใช้ในการลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่มีผู้ใช้สนใจด้วย
กลุ่มอภิปราย (Newsgroup) หรือ ยูสเน็ต (Use Net)
กลุ่มอภิปรายเป็นการรวมกลุ่มของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เช่น กลุ่มที่สนใจ เรื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ การเลี้ยงปลา การปลูกไม้ประดับ เป็นต้น เพื่อส่งข่าวสารหรือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน ในลักษณะของกระดานข่าว (Bulletin Board) บนอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สามารถเลือกหัวข้อที่สนใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยการส่งข้อความไปยังกลุ่ม และผู้อ่านภายในกลุ่มจะมีการร่วมกันอภิปรายแสดงความคิดเห็นและส่งข้อความกลับมายังผู้ส่งโดยตรง หรือส่งเข้าไปในกลุ่มเพื่อให้ผู้อื่นอ่านด้วย ก็ได้
การสนทนา (Talk)
การสนทนาเป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยโต้ตอบกับผู้ใช้คนอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อเข้าระบบอินเทอร์เน็ตในเวลาเดียวกัน โดยการพิมพ์ข้อความผ่านทางแป้นพิมพ์ พูดคุยผ่านทางคอมพิวเตอร์โดยมีการตอบโต้กันทันที การสนทนาผ่านทางอินเทอร์เน็ตนี้สามารถใช้โปรแกรมได้หลายโปรแกรม เช่น โปรแกรม Talk สำหรับการสนทนา เพียง 2 คน โปรแกรม Chat หรือ IRC (Internet Relay Chat) สำหรับการสนทนาเป็นกลุ่ม หรือโปรแกรม ICQ (มาจากคำว่า I Seek You) เป็นการติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ตทางหนึ่ง คุณสมบัติที่โดดเด่นของไอซีคิวคือ การสนทนาแบบตัวต่อตัวกับคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะหรือสนทนาพร้อมกันหลาย ๆ คนก็ได้ และที่สำคัญคือผู้ใช้ไอซีคิวสามารถเลือกสนทนากับใครโดยเฉพาะหรือเลือกที่จะไม่สนทนากับผู้ที่ไม่พึงประสงค์
บริการด้านการติดต่อสื่อสาร เป็นบริการที่ผู้ใช้สามารถติดต่อสื่อสารกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อื่นได้ ในขณะที่นั่งอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของตนเอง ซึ่งมีหลายลักษณะดังนี้การขอเข้าใช้ระบบจากระยะไกล (Telnet) โปรแกรม Telnet เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ต และ สามารถใช้บริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น บริการห้องสมุด ข้อมูลการวิจัย และสารสนเทศของเครื่อง คอมพิวเตอร์เหล่านั้นได้ ราวกับว่ากำลังทำงานอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น ๆ ช่วยให้ไม่ต้องเดินทางไปทำงานอยู่หน้าเครื่องเหล่านั้นโดยตรง
บริการการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูล บริการการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูล หรือบริการ FTP (File Transfer Protocol) เป็นบริการ ของอินเทอร์เน็ตอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมใช้ โดยผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ข้อมูลตัวหนังสือ รูปภาพ เสียง วีดิทัศน์ หรือโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งการถ่ายโอนข้อมูลนั้นมีอยู่ 2 ลักษณะคือ
· การถ่ายโอนไฟล์ข้อมูลที่อยู่ในเครื่องของเราไปยังคอมพิวเตอร์ที่เป็นโฮสต์ (Host) เรียกว่า การอัพโหลด (Upload) ทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นสามารถใช้งานจากข้อมูลของเราได้
· การที่เราถ่ายโอนไฟล์ข้อมูลจากโฮสต์อื่นมายังคอมพิวเตอร์ของเราเรียกว่า การดาวน์โหลด (Download) ในการนำดาวน์โหลดข้อมูลต่าง ๆ มาใช้นั้นมีบริการอยู่ 2 ประเภท คือ Private FTP หรือเอฟทีพีเฉพาะกลุ่มนิยมใช้ตามสถานศึกษาและภายในบริษัท ผู้ใช้บริการจะต้องมีรหัสผ่านเฉพาะจึงจะใช้งานได้ ประเภทที่สองคือ Anonymous FTP เป็นเอฟทีพีสาธารณะให้บริการดาวน์โหลดไฟล์ ข้อมูลฟรีโดยไม่ต้องมีรหัสผ่านซึ่งปัจจุบันมีบริการในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก )
บริการค้นหาข้อมูล เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นระบบขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมกว้างขวางทั่วโลก โดยมีแฟ้มข้อมูลต่าง ๆ มากมายหลายพันล้านแฟ้มบรรจุอยู่ในระบบเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นใช้งาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบ หรือโปรแกรมเพื่อช่วยในการค้นหาแฟ้มได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
อาร์คี (Archie) เป็นโปรแกรมที่ช่วยในการค้นหาแฟ้มที่ผู้ใช้ทราบชื่อแต่ไม่ทราบว่าแฟ้มนั้นอยู่ ในเครื่องบริการใดในอินเทอร์เน็ต โปรแกรมนี้จะสร้างบัตรรายการแฟ้มไว้ในฐานข้อมูล
โกเฟอร์ (Gopher) เป็นโปรแกรมที่มีรายการหรือเมนู (Menu) ให้เลือกเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ในการค้นหาแฟ้มข้อมูล ความหมาย และทรัพยากรอื่น ๆ เกี่ยวกับหัวข้อที่ระบุไว้ โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องทราบและใช้รายละเอียดของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงอยู่กับอินเทอร์เน็ต
เวอร์โรนิคา (Veronica) เป็นโปรแกรมค้นหาข้อมูลที่พัฒนาขึ้นมาจากการทำงานของระบบโกเฟอร์ เพื่อช่วยในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการโดยไม่ต้องผ่านระบบเมนูตามลำดับขั้นของโกเฟอร์เพียงแต่พิมพ์คำสำคัญ (Keyword) ลงไปให้ระบบค้นหาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำนั้น ๆ แทน
เวส (WAIS: Wide Area Information Server) เป็นโปรแกรมสำหรับใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยสืบค้นข้อมูล โดยการค้นจากเนื้อหาข้อมูลแทนการค้นตามชื่อของแฟ้มข้อมูลจากฐานข้อมูลจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วโลก การใช้งานผู้ใช้ต้องระบุชื่อเรื่องหรือชื่อคำหลักที่เกี่ยวกับเนื้อหาข้อมูลที่ต้องการค้น หลังจากใช้คำสั่ง ค้นหาข้อมูลโปรแกรมเวสจะช่วยค้นไปยังแหล่งข้อมูลที่ต่อเชื่อมกันอยู่ในอินเทอร์เน็ต โดยจะพยายามค้นเอกสารที่เกี่ยวข้องตรงกับคำค้น หรือวลีสำคัญที่ผู้ใช้การค้นหาให้มากที่สุด
เซิร์ช เอนจินส์ (Search Engines) เป็นเครื่องมือช่วยค้นหาข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นลักษณะของโปรแกรมช่วยการค้นหาซึ่งมีอยู่มากมายใน ระบบอินเทอร์เน็ต โดยการพัฒนาขององค์กรต่าง ๆ
บริการข้อมูลมัลติมีเดีย เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web : WWW) เป็นบริการบนอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากลักษณะเด่นของเวิลด์ไวด์เว็บที่สามารถนำเสนอข้อมูลมัลติมีเดียที่แสดงได้ทั้งตัวหนังสือ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียงซึ่งมีอยู่มากมาย และสามารถรวบรวมลักษณะการใช้งานอื่น ๆ ในระบบอินเทอร์เน็ตเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ การถ่ายโอนข้อมูล การสนทนา การค้นหาข้อมูล และอื่น ๆ ทำให้เวิลด์ไวด์เว็บเป็นแหล่งข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยการเข้าสู่ระบบเวิลด์ไวด์เว็บจะต้องใช้โปรแกรมการทำงานที่เรียกว่าโปรแกรมค้นผ่าน (Web Browser) เป็นตัวเชื่อมเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งโปรแกรมค้นผ่านที่ได้รับความนิยมได้แก่ Internet Explorer และ Netscape Navigator ลักษณะของเวิลด์ไวด์เว็บ คือ การนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ มากมายในลักษณะหน้ากระดาษอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า เว็บเพจ (Web Page) เปรียบเสมือนหน้าหนังสือหรือหน้านิตยสารซึ่งสามารถบรรจุข้อความ รูปภาพ และเสียงไว้ได้ด้วย โดยปกติจะเปิดอิสระให้ทุกคนเข้าไปเปิดดูข้อมูลได้ ขอเพียงแต่ให้ผู้ใช้ทราบที่อยู่ของเว็บเซิร์ฟเวอร์นั้น ๆ ซึ่งที่อยู่นี้เรียกว่า ยูอาร์แอล (URL: Uniform Resource Locator) ซึ่งแต่ละยูอาร์แอลจะมีชื่อไม่ซ้ำกัน เช่น www.hotmail.com, www.swu.ac.th, www.ipst.ac.th เป็นต้น
ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตต่อการศึกษา
ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตต่อการจัดการศึกษานั้นถือเป็นโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก (ถนอมพร เลาหจรัสแสง. 2547: ออนไลน์) ซึ่งสรุปได้ดังนี้
เปิดโอกาสให้ครูอาจารย์ นักเรียน และนักศึกษา สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่หลากหลายหรือเสมือนหนึ่งมี " ห้องสมุดโลก" (Library of the World) เพียงปลายนิ้วสัมผัส เช่น ครูและนักเรียนสามารถค้นหาหรือสืบค้นข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ได้ทั่วโลกโดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านสถานที่ และเวลา (Anywhere & Anytime) ครู - อาจารย์และนักเรียนที่ด้อยโอกาสอันเนื่องมาจากความห่างไกล ทุรกันดาร ขาดแหล่งห้องสมุดที่ดี สามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น เด็กนักเรียนเองสามารถร่วมกันผลิตข้อมูลในแขนงต่าง ๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์พืช ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชุมชน ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนกับเด็กทั่วโลก ในขณะที่ครูสามารถนำเนื้อหาทางวิชาการที่มีประโยชน์ เช่น บทความทางวิชาการ เอกสารการสอนลงในเว็บไซต์ เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนภายในวงการการศึกษาซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ จากอินเทอร์เน็ตมาใช้ประกอบการเรียนการสอนได้อีกด้วย
พัฒนาการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากการที่อินเทอร์เน็ต สามารถให้บริการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ และง่ายต่อการใช้ทำให้เกิดการสื่อสารเพิ่มมากขึ้นในระบบการศึกษาทั้งที่เป็นการสื่อสารระหว่างครูกับครู ครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียนเองซึ่งในปัจจุบันคณาจารย์จำนวนมากในหลายสถาบันทั้งระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษาได้ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลางในการให้การบ้าน รับการบ้าน และตรวจส่งคืนการบ้าน ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารกันระหว่างนักเรียนสามารถช่วยส่งเสริมการทำงานกลุ่ม การปรึกษาหารือกับครูและเพื่อนนักเรียนในเชิงวิชาการ
ลักษณะและความเป็นมาของเวิลด์ไวด์เว็บ
เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web)
เวิลด์ไวด์เว็บ นิยมเรียกสั้นๆ ว่าเว็บ หรือ WWW ถือเป็นส่วนที่น่าสนใจที่สุดบนอินเทอร์เน็ตเพราะ
สามารถแสดงสารสนเทศต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ข้อมูลด้านดนตรี กีฬา การศึกษา ซึ่งสามารถนำเสนอได้ทั้งภาพ เสียง รวมถึงภาพเคลื่อนไหว เช่นแฟ้มภาพวีดิทัศน์หรือตัวอย่าง ภาพยนตร์ และการสืบค้นสารสนเทศในเวิลด์ไวด์เว็บนั้นจำเป็นต้องอาศัยโปรแกรมค้นดูเว็บ (web browser) ในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล โดยที่เว็บกับโปรแกรมค้นผ่านจะทำหน้าที่รวบรวมและกระจายเอกสารที่เครือข่าย ที่ทำไว้
เกตส์ (Gates, 1995) ได้กล่าวถึงเว็บไว้ว่า นอกเหนือจากการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และการแลก
เปลี่ยนเอกสารกันแล้ว อินเทอร์เน็ตยังสนับสนุนสืบค้นข้อมูล อันเป็นโปรแกรมการใช้งานที่ได้รับความนิยม มากที่สุดแบบหนึ่งนั่นคือเวิลด์ไวด์เว็บ ซึ่งหมายถึงเครื่องบริการเว็บที่ต่อเชื่อมเข้ากับอินเทอร์เน็ตโดยมี ข่าวสารเป็นภาพกราฟิก เมื่อเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องบริการเว็บประเภทนั้น จอภาพจะปรากฏข่าวสารพร้อมด้วย การเชื่อมโยง เมื่อเลื่อนเมาส์ไปคลิกที่จุดเชื่อมโยงใดๆ ก็จะเป็นการเปิดไปสู่อีกหน้าหนึ่งที่มีข่าวสารเพิ่มเติม พร้อมทั้งการเชื่อมโยงจุดใหม่อื่นๆ ซึ่งข่าวสารหน้าใหม่นี้อาจจะอยู่ในเครื่องบริการเว็บเดียวกันหรืออาจเป็น เครื่องบริการเว็บอื่นๆ ในอินเทอร์เน็ต
ความเป็นมาของเวิลด์ไวด์เว็บ
ปี พ.ศ.2533 นักวิทยาศาสตร์จากห้องทดลองของสถาบันเซิร์น (CERN) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการฟิสิกส์
แห่งยุโรป ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คือ ทิม เบิร์นเนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) ได้สร้างระบบ การสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่าไฮเพอร์เท็กซ์ (hypertext) ซึ่งผลที่ได้ ทำให้มีการสร้างโพรโทคอลแบบ HTTP (Hypertext Transport Protocol) ขึ้น เพื่อใช้ในการส่งสาร สนเทศต่างๆ โดยจะถูกจัดอยู่ในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า HTML (HyperText Markp Language) ซึ่งการ สื่อสารและการสืบค้นสารสนเทศในรูปแบบใหม่นี้ทำให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วใน ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ และเสียง (จิตเกษม พัฒนาศิริ, 2540)
จากการวิจัยดังกล่าว ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นและสร้างสรรค์รูปแบบเพื่อสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นตัวเชื่อมโยง ทำให้เวิลด์ไวด์เว็บกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้การติดต่อสื่อสาร และการนำเสนอผ่านเครือข่ายทิ่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้วในขณะนี้
- เว็บเพจและโฮมเพจ
เอกสารข้อมูลเวิลด์ไวด์เว็บ เรื่องหนึ่ง ๆ ใน เว็บไซต์ จะถูกแบ่งเป็นหน้า ๆ คล้ายหนังสือ เล่มหนึ่ง แต่ละหน้า เรียกว่า เว็บเพจ (web page) ข้อมูลในเวบเพจเป็นเอกสารแบบ ไฮเปอร์เท็กซ์ เขียนขึ้นด้วยภาษา HTML แบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นตัวข้อมูล และส่วนที่เป็น ตัวเชื่อม (link) ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงไปยังข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง (เมื่อนำเมาส์ไปชี้บางครั้งจะปรากฏเห็นเป็นรูปมือ) เราเรียกข้อมูลที่มีตัวเชื่อมนี้ว่าเป็นไฮเปอร์เท็กซ์ (hypertext) เว็บเพจหน้าแรกของเอกสารบนเวิลด์ไวด์เว็บ เรียกว่า โฮมเพจ (home page)ซึ่งเปรียบ เสมือนหน้าแรก หรือหน้าปกของหนังสือ
- เว็บเซิร์ฟเวอร์
เว็บเซิร์ฟเวอร์ (web server) หมายถึงเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ให้บริการเวิลด์ไวด์เว็บ ซึ่งอาจจะใช้ระบบปฏิบัติการ Unix หรือ Windows NT ก็ได้ และมีโปรแกรมประเภท HTTPD ทำหน้าที่คอยบริการจัดส่งเอกสารข้อมูล ให้กับผู้ที่ติดต่อขอผ่านมาทางเว็บบราวเซอร์
- เว็บไซต์
เว็บไซต์ (web site) หมายถึงตำแหน่งที่เก็บข้อมูลที่เป็น เว็บเพจ ต่าง ๆที่เจ้าของระบบ ได้จัดเตรียมไว้บนเว็บเซิร์ฟเวอร์ แต่ละเว็บไซต์บนเว็บเซิร์ฟเวอร์มีวิธีการระบุที่อยู่ (address) ของตัวเองไม่ให้ซ้ำกับผู้อื่น วิธีการระบุที่อยู่ของเว็บไซต์นี้เรียกว่า รหัสสืบค้น (Uniform Resource Locator หรือ URL) ส่วนแรกของ URLเป็นโปรโตคอล http ที่จะบอกลักษณะ ของข้อมูล ว่าเป็นแบบเวิลด์ไวด์เว็บคั่นด้วยเครื่องหมาย :// และส่วนที่สอง ใช้บอกตำแหน่งที่เก็บข้อมูลนั้น ๆ เช่น
- ไฮเปอร์เท็กซ์ ไฮเปอร์ลิงก์ และ ไฮเปอร์มีเดีย
ไฮเปอร์เท็กซ์ (Hypertext) คือ คำหรือวลีเรืองแสงหรือมีสีแตกต่างจากข้อความธรรมดา หรือ มีการขีดเส้นใต้ในเอกสารเว็บ เมื่อเรียกดูผ่านทางเว็บบราวเซอร์ ถ้าใช้เมาส์ชี้ที่ ไฮเปอร์เท็กซ์จะเห็นเป็นรูปมือ และเมื่อคลิกเมาส์ที่ไฮเปอร์เท็กซ์ โปรแกรมเว็บบราวเซอร์ จะเชื่อมโยงไปยังเอกสารอื่นซึ่งอาจจะเป็นจุดอื่นในไฟล์เดียวกัน หรืออาจจะเชื่อมโยงไปยัง ไฟล์เอกสารอื่น หรือเว็บไซต์อื่น การเชื่อมโยงดังกล่าว เรียกว่า
ไฮเปอร์ลิงก์ (hyperlink) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของเอกสารเว็บ เมื่อเรียกดูผ่านทางเว็บบราวเซอร์
ไฮเปอร์มีเดีย (Hypermedia) หมายถึง ส่วนที่เพิ่มเติมจากไฮเปอร์เท็กซ์ นั่นคือนอกเหนือ จากการเชื่อมโยงข้อมูลในแบบตัวอักษรแล้ว เรายังสามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลที่เป็นรูปภาพ ภาพถ่าย วิดีโอ เสียง ภาพสามมิติ ภาพเคลื่อนไหวได้ด้วย
- โปรแกรมเว็บบราวเซอร์
เว็บบราวเซอร์ (web browser) คือโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ ที่ทำหน้าที่ติดต่อกับ เว็บเซอร์เวอร์ เพื่อขอดูเอกสารข้อมูลเวิลด์ไวด์เว็บ เมื่อได้รับแฟ้มเอกสารที่ขอไป ก็นำมาแสดงบนจอภาพ เราเรียกรายละเอียดของเอกสารข้อมูลที่เว็บบราวเซอร์นำมาแสดงบนจอว่า เอกสารเว็บ (web document) ในปัจจุบัน มีบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ หลายรายได้พัฒนาโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ ออกมาให้ใช้งานกันมากมายและเพิ่มขึ้นทุกขณะ เช่น NCSA Mosaic, Cello, NetscapeNavigator, Internet Explorer,HotJava, และ Win Web เป็นต้น
อินทราเน็ต, เอ็กซ์ทราเน็ต คืออะไร
![](https://static.wixstatic.com/media/d679c4_2b46a44b713b46598cdaba9cc8e9df65~mv2.jpg/v1/fill/w_448,h_336,al_c,lg_1,q_90/d679c4_2b46a44b713b46598cdaba9cc8e9df65~mv2.webp)
อินทราเน็ต เป็นเครือข่ายภายในองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมือนอินเทอร์เน็ตภายในองค์กร เพื่อการแบ่งปันสารสนเทศ การติดต่อสื่อสาร ความร่วมมือ และการสนับสนุนกระบวนการทางธุรกิจ อินทราเน็ตได้รับการป้องกันด้วยมาตรฐานความปลอดภัย เฉพาะสมาชิกเท่านั้น
การประยุกต์ใช้อินทราเน็ต
บริษัทต่างๆใช้เทคโนโลยีอินทราเน็ตเพื่อการสืบค้นข้อมูล เป็นเครื่องมือความร่วมมือ เก็บประวัติส่วนตัวของลูกค้า เชื่อต่อไปยังอินเทอร์เน็ต และคิดว่าการลงทุนในอินทราเน็ตเป็นเรื่องพื้นฐานเหมือนการติดตั้งโทรศัพท์ให้แกพนักงาน
การสื่อสารและความร่วมมือ อินทราเน็ตสามารถปรับปรุงและความมือภายในองค์กร
งานสิ่งพิมพ์บนเว็บ มีความง่าย ความสวยงามน่าสนใจ ต้นทุนที่ต่ำของการจัดพิมพ์และการเข้าถึงสารสนเทศธุรกิจสื่อประสมภายในผ่านเว็บไซท์อินอินทราเน็ต
การดำเนินธุรกิจและการจัดการ อินทราเน็ตถูกใช้เป็นฐานงานสำหรับการพัฒนาและนำมาใช้กับโปรแกรมประยุกต์ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและตัดสินใจด้านการจัดการระหว่างองค์กร
มูลค่าทางธุรกิจของอินทราเน็ต
- การประหยัดต้นทุนงานสิ่งพิมพ์ ช่วยลดการพิมพ์ การส่งไปรษณีย์ และการกระจายต้นทุน
- การประหยัดต้นทุนการอบรมและการพัฒนา การเข้าถึงสารสนเทศและโปรแกรมประยุกต์จัดพิมพ์เว็บสำหรับอินทราเน็ตที่ง่ายกว่าวิธีการเดิมมาก
บทบาทของเอ็กซ์ทราเน็ต
ธุรกิจยังคงใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแบบเปิดหรือเอ็กซ์ทราเน็ตอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าและหุ้นส่วน ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขัน ในการพัฒนาสินค้าและเพิ่มความเป็นหุ้นส่วน
มูลค่าทางธุรกิจของเอ็กซ์ทราเน็ตได้มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ เทคโนโลยีเว็บบราวเซอร์ของเอ็กซ์เน็ต และเอ็กซ์ทราเน็ตทำให้บริษัทสามารถเสนอบริการเชิงเว็บประเภทใหม่ที่น่าสนใจให้แก่หุ้นส่วนทางธุรกิจ
ระบบความร่วมมือองค์กร
เป้าหมายของระบบความร่วมมือองค์กร คือ การสามารถทำงานร่วมกันที่ง่ายขึ้นมีประสิทธิภาพขึ้น ดังนี้
- การติดต่อสื่อสาร แบ่งปันสารสนเทศกับผู้อื่น
- การประสานงาน ประสานความพยายามในเรื่องงานของแต่ละบุคคลและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
- ความร่วมมือ ทำงานร่วมกันในโครงการร่วมและงานที่ได้รับมอบหมาย
ส่วนประกอบของระบบความร่วมมือองค์กร
เป็นระบบสารสนเทศ ดังนั้น จึงใช้ทรัพยากรฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ ข้อมูลและครือข่าย เพื่อนสนับสนุนการติดต่อสื่อสาร การประสานงาน และความร่วมมือระหว่างสมาของทีมกรุ๊ปแวร์สำหรับความร่วมมือองค์กร กรุ๊ปแวร์ หมายถึง ซอฟต์แวร์ที่ทำให้ผู้ใช้หลายคนใช้สารสนเทศร่วมกันกับผู้อื่นและทำงานร่วมกันในหลายๆโครงการ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน โปรแกรมการจัดการติดต่อบนเครือข่ายสำเร็จรูปและไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงโปรแกรมการใช้เอกสารร่วมกัน
เครื่องมือการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์
- ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นในธุรกิจ
- โทรศัพท์อินเทอร์เน็ตและโทรสาร เป็นเครื่องมือที่ต้นทุนต่ำและใกล้ที่จะเป็นสื่อสารสากลช่วยในการส่งโทรสาร รับไปรษณีย์เสียง และนำสู้การสนทนาสองทาง
- งานสิ่งพิมพ์บนเว็บ เป็นเครื่องมือการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญสำหรับความร่วมมือองค์กร ได้แก่ ซอฟต์แวร์โปรแกรมประยุกต์
เครื่องมือการประชุมอิเล็กทรอนิกส์
ช่วยให้ผู้ใช้ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์แบ่งปันสารสนเทศทำงานร่วมกันที่ได้รับหมอบหมาย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม
- การประชุมข้อมูล ผู้ใช้ที่เครื่องลูกข่าย สามารถเรียกดูแก้ไข ปรับปรุง บันทึกการแก้ไขลงที่กระดาษสีขาว เอกสาร และสิ่งอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกัน
- การประชุมเสียง การสนทนาทางโทรศัดพท์ร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนร่วมผ่านทางโทรศัพท์หรือเครื่องลูกข่ายด้วยซอฟต์แวร์โทรศัพท์อินเทอร์เน็ต
- การประชุมทางวีดีทัศน์ แบบทันทีและการประชุมทางไกลโดยเสียง ระหว่างผู้ใช้ที่เครื่องลูกข่ายหรือระหว่างผู้มีส่วนร่วมในห้องประชุมที่ต่างสถาบันกัน รวมการใช้กระดาษสีขาวและการแบ่งปันเอกสาร
- กลุ่มหรือชุมชนสนทนา เตรียมระบบสารสนเทศเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อกระตุ้นและจัดการสนทนาข้อความแบบออนไลน์ในช่วงเวลาหนึ่งระหว่างสมาชิกกลุ่มที่มีความสนใจพิเศษหรือทีมโครงการ
- ระบบพูดคุย การทำให้ผู้ใช้สองคนหรือมากกว่าบนเครื่องลูกข่ายสามารถสนทนาข้อความแบบออนไลน์ได้แบบทันที
- ระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ห้องประชุมกับเครื่องลูกข่าย โดยเครื่องฉายภาพจอภาพขนาดใหญ่ และซอฟต์แวร์ EMS เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร การให้ความร่วมมือและการตัดสินใจของกลุ่มในระหว่างการประชุมทางธุรกิจ
เครื่องมือการจัดการงานที่ทำร่วมกัน
ช่วยให้คนทำงานได้สำเร็จหรือจัดการกิจกรรมที่ทำงานร่วมกัน
- ปฎิทินและกำหนดการ การใช้ปฏิทินอิเล็กทรอนิกส์และคุณสมบัติอื่นของกรุ๊ปแวร์เพื่อทำกำหนดการ บอกล่าว หรือเตือนอัตโนมัติแก่สมาชิกเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของทีมและกลุ่มร่วมงานของการประชุม การนัดหมายและเหตุการณ์อื่นๆ
- งานและการจัดการโครงการ จัดการทีมและกลุ่มร่วมงานโครงการด้วยกำหนดการ การติดตามและทำแผนภูมิสถานะความสำเร็จของงานภายใต้โครงการ
- ระบบกระแสงาน ช่วยให้คนงานที่มีความรู้เครือข่ายร่วมมือเพื่อทำงานให้สำเร็จและจัดการการไหลของงานที่มีโครงสร้างและการประมวลผลเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ภายในกระบวนการทางธุรกิจ
- การจัดการความรู้ จัดระเบียบและแบ่งปันแบบฟอร์มของสารสนเทศทางธุรกิจที่สร้างภายในองค์กร รวมทั้งการจัดการโครงการและห้องสมุดเอกสารองค์กร ฐานข้อมูลการสนทนา ฐานข้อมูลเว็บไซท์สื่อหลายมิติ และฐานความรู้ประเภทอื่นๆ
จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) คือ การส่งข้อความหรือข่าวสารจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่นๆ ผ่านทางคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายเหมือนกับการส่งจดหมาย แต่อยู่ในรูปแบบของสัญญาณข้อมูลที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ โดยเปลี่ยนการนำส่งจดหมายจากบุรุษไปรษณีย์มาเป็นโปรแกรม และเปลี่ยนจากการใช้เส้นทางจราจรคมนาคมทั่วไปมาเป็นช่องสัญญาณรูปแบบต่างๆ ที่เชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะตรงเข้ามาสู่ Mail Box ที่ถูกจัดสรรใน Server ของผู้รับปลายทางทันที
บล็อก (อังกฤษ: blog) เป็นคำรวมมาจากคำว่า เว็บล็อก (อังกฤษ: weblog) เป็นรูปแบบเว็บไซต์ประเภทหนึ่ง ซึ่งถูกเขียนขึ้นในลำดับที่เรียงตามเวลาในการเขียน ซึ่งจะแสดงข้อมูลที่เขียนล่าสุดไว้แรกสุด บล็อกโดยปกติจะประกอบด้วย ข้อความ ภาพ ลิงก์ ซึ่งบางครั้งจะรวมสื่อต่างๆ ไม่ว่า เพลง หรือวิดีโอ
ในหลายรูปแบบได้ จุดที่แตกต่างของบล็อกกับเว็บไซต์โดยปกติคือ บล็อกจะเปิดให้ผู้เข้ามาอ่านข้อมูล สามารถแสดงความคิดเห็นต่อท้ายข้อความที่เจ้าของบล็อกเป็นคนเขียน ซึ่งทำให้ผู้เขียนสามารถได้ผลตอบกลับโดยทันที คำว่า "บล็อก" ยังใช้เป็นคำกริยาได้ซึ่งหมายถึง การเขียนบล็อก และนอกจากนี้ผู้ที่เขียนบล็อกเป็นอาชีพก็จะถูกเรียกว่า "บล็อกเกอร์"
บล็อกเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหลากหลายขึ้นอยู่กับเจ้าของบล็อก โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร การประกาศข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น การเผยแพร่ผลงาน ในหลายด้านไม่ว่า อาหาร การเมือง เทคโนโลยี หรือข่าวปัจจุบัน นอกจากนี้บล็อกที่ถูกเขียนเฉพาะเรื่องส่วนตัวหรือจะเรียกว่าไดอารีออนไลน์ ซึ่งไดอารีออนไลน์นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้บล็อกในปัจจุบัน นอกจากนี้ตามบริษัทเอกชนหลายแห่งได้มีการจัดทำบล็อกของทางบริษัทขึ้น เพื่อเสนอแนวความเห็นใหม่ใหักับลูกค้า โดยมีการเขียนบล็อกออกมาในลักษณะเดียวกับข่าวสั้น และได้รับการตอบรับจากทางลูกค้าที่แสดงความเห็นตอบกลับเข้าไป เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์
XBRL เทคโนโลยีใหม่ของรายงานทางการเงิน
XBRL (eXtensible Business Reporting Language) คือระบบภาษาทางอิเล็กทรอนิกที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเครือขายอินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารข้อมูล เป็นการติดรหัสแถบ (Barcode)ของรายการต่างๆ ของงบการเงินที่นำเสนอ ซึ่งเป็นการอ้างถึงภาษามาตรฐานของรายงานทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก เป็นภาษาทางคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับการนำเสนองบการเงินที่เป็นเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในรูปแบบของสื่อที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ นอกเหนือไปจากรูปแบบ PDF, HTML หรือรูปแบบ Word/Excel ที่คุ้นเคยกันมาแต่อดีต ในรูปแบบรายงานทางการงิน ซึ่งการทำงานของ XBRL เปรียบได้กับการทำงานของเครื่องอ่านบาร์โค้ด ทำให้การทำงานถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น เพิ่มความรวดเร็ว และสามารถลดข้อจำกัดในการรวบรวมเอกสารที่มาจากแหล่งต่างที่กัน ช่วยจัดเก็บเอกสารในรูปแบบที่ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน
E-Commerce คืออะไร?
เมื่อพูดถึง E-Commerce สำหรับคนที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ หรือบางคนที่กำลังศึกษาหาข้อมูลอยู่อาจจะไม่รู้ หรือไม่เข้าใจว่า E-Commerce มันคืออะไร ก่อนอื่นผมขอพูดก่อนเลยว่า E-Commerce นั้นมาจากคำว่า “Electronic Commerce” หรือการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง E-Commerce จะเป็นการโฆษณา การซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรทัศน์ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต เราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ เราสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ทำให้การทำการตลาดแบบออนไลน์นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่ง E-Commerce นั้นมีประโยชน์กับธุรกิจของเราเป็นอย่างมาก สามารถทำการค้าได้แบบอัตโนมัติ หรือสามารถเปิดขายสินค้าได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงสินค้าของเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงจุด และที่สำคัญ E-Commerce จะช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าให้กับเราโดยที่เราไม่ต้องลงแรงอะไรมากมาย นอกจากที่กล่าวมาแล้ว E-Commerce ยังสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจแบบเรา ๆ ได้อีกหลายด้านเลยทีเดียว
e-Payment คืออะไร?
ในปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ที่ได้มีการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแสวงหาความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น ดังเช่นการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบ e-Payment หรือ Electronic Payment System ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้สอดคล้องกับการใช้งานของเทคโนโลยี และวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นกระบวนการส่งมอบในลักษณะของการโอนชำระเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ที่มีตัวกลาง Payment Gateway ในรูปแบบ Website ที่ทำให้สามารถทำการชำระค่าบริการ หรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านบัตรเครดิตได้
![](https://static.wixstatic.com/media/d679c4_403e099f1a154c7cb179e4618c63db6d~mv2.jpg/v1/fill/w_420,h_420,al_c,lg_1,q_90/d679c4_403e099f1a154c7cb179e4618c63db6d~mv2.webp)
โดยทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อลดงบประมาณในการผลิตธนบัตร ลดปัญหาในการฟอกเงินหลบเลี่ยงภาษีเพื่อทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งระบบ Electronic Payment System นี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งหากธุรกิจใดที่ต้องการใช้งาน จำเป็นจะต้องขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนเกิดการใช้งาน และธุรกิจ Electronic Payment System ที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบด้วยบริการทั้งหมด 8 ประเภทดังนี้
1. การเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) คือมูลค่าของเงินที่ถูกบันทึกในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจมาจากการใช้ชำระค่าสินค้า หรือทำธุรกรรมอื่นๆ แทนเงินสด
2. บริการเครือข่ายของบัตรเครดิต คือเครือข่ายที่จะให้บริการในการรับส่งข้อมูลทางการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้ให้บริการบัตรเครดิตต่างๆ
3. บริการเครือข่าย EDC Network คือจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการให้บริการอุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่รับส่งข้อมูลการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
4. บริการสวิตชิ่งในการชำระเงิน (Transaction Switching) คือบริการที่เป็นส่วนรวม หรือจุดเชื่อมต่อของการรับส่งข้อมูลการชำระเงิน ให้กับผู้ให้บริการตามที่ได้ตกลงกันไว้
5. บริการหักบัญชี (Clearing) คือการบริการในการรับส่งข้อมูล ตรวจสอบ และยืนยันในคำสั่งของการชำระเงิน เพื่อให้กระบวนการชำระดุลระหว่างเจ้าหนี้ และลูกหนี้ให้สำเร็จ
6. บริการชำระดุล (Settlement) คือบริการระบบการชำระเงินที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า เพื่อหักเงินของผู้ใช้บริการไปให้เจ้าหนี้
7. บริการรับชำระเงินแทน บริการที่คิดขึ้นมาเพื่อชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเจ้าหนี้
8. บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์ หรือผ่านทางเครือข่าย เป็นการชำระเงินผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่จะไม่มีการเก็บเงินไว้
![](https://static.wixstatic.com/media/d679c4_c8e61276c7984ac7903057c9031beb79~mv2.jpg/v1/fill/w_420,h_179,al_c,lg_1,q_90/d679c4_c8e61276c7984ac7903057c9031beb79~mv2.webp)
เหตุผลที่คนไทยให้ความมั่นใจกับระบบชำระเงินผ่าน E-payment
จากผลการสำรวจ ของ VISA ร่วมกับบริษัท Toluna ทำให้เห็นว่าคนไทยมีความไว้ใจกับระบบนี้มากแค่ไหน โดยพบว่า 73 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ทำแบบสอบถามในจำนวน 1,000 คน ชื่นชอบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าบริการผ่านบัตร หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟน มากกว่าการใช้เงินสด หรือการใช้เศษเหรียญ ซึ่งมักถูกเลือกใช้จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง ถึง 83 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับตลาดทั่วไปที่มีเพียงแค่ 68 เปอร์เซ็นต์
โดยผู้ที่เลือกใช้อี-เพย์เม้นท์ได้คำนึงถึงความปลอดภัยที่อี-เพย์เม้นท์มีให้ มากกว่าการถือเงินสดถึง 60 ปอร์เซ็นต์ และเหตุผลสุดท้ายที่คนไทยเลือกใช้อี-เพย์เม้นท์ก็คือ ความสามารถในการเข้าถึงการเบิกถอน ที่รวดเร็ว และลดขั้นตอนในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น คือ 48 เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจสรุปได้ว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นถึง 67 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเหตุผลมาจากความปลอดภัย และความสะดวกสบายในการใช้งาน ที่ไม่จำเป็นจะต้องแสดงบัตรในการชำระเงิน
![](https://static.wixstatic.com/media/d679c4_037096e1c31248939b00459a2de195a2~mv2.jpg/v1/fill/w_420,h_279,al_c,lg_1,q_90/d679c4_037096e1c31248939b00459a2de195a2~mv2.webp)
e-Wallet คืออะไร
e-Wallet คือ กระเป๋าเงินส่วนตัวของสมาชิก เพื่อใช้ซื้อสินค้าเว็บไซด์เว็บ Bookbik เท่านั้นซึ่ง e-wallet เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้ความสะดวกกับเพื่อนสมาชิกในการซื้อสินค้า ( โดยทั่วไปแล้ว สมาชิกสามารถชำระค่าสินค้าโดย การตัดบัญชีธนาคารอัตโนมัติ internet banking, การโอนเงิน, บัตรเครดิต หรือ เลือกที่จะไปชำระที่ เซเว่น ได้ตามการซื้อปกติทุกอย่าง )แล้วทำไมต้องเลือกชำระค่าสินค้าผ่าน e-Wallet? " e-Wallet " เหมาะสำหรับการชำระค่าสินค้าที่มีมูลค่าการชำระต่อครั้งไม่มากนัก เช่น สมาชิกซื้อสินค้าitunesราคา 30 บาท แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการชำระเงิน10-15บาท เมื่อเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมการชำระเงินกับค่าสินค้าที่เราซื้อดูแล้วอาจจะไม่สมเหตุผล เพราะฉะนั้นในกรณีนี้สมาชิกอาจจะโอนเงินมาไว้ที่ e-Wallet ในจำนวนนึงแล้วทยอยซื้อสินค้าตัดเงินจาก e-Wallet ไปเรื่อยๆได้นะค่ะ
ขั้นตอนการใช้งาน e-Wallet แค่เติมเงินเข้า e-Wallet ของตัวเองก่อน จากนั้นก็สามารถซื้อสินค้าได้โดยหักเงินจาก e-Wallet
เพื่อนๆจะสังเกตเห็นว่า หลังจากเพื่อนๆ LOG IN ที่เว็บ bookbik.com แล้วที่หน้าเว็บก็จะแสดงรายละเอียด e-Wallet ของเพื่อนสมาชิกสมมติว่า สมาชิกเติมเงินเข้า e-Wallet 200 บาท หลังจากเติมเงินเข้าไปแล้ว e-Wallet ระบบจะแสดงให้เห็นว่า สมาชิกมีเงินใน e-Wallet 200 บาท
และสมมติว่า สมาชิกซื้อสินค้า เช่น itunes ราคา 30 บาท โดยเลือกชำระเงินจาก e-Wallet เมื่อทำรายการซื้อเสร็จเรียบร้อยแล้วระบบก็จะตัดเงิน 30 บาทจาก e-Wallet และจะเหลือเงินใน e-Wallet 170 บาท ซึ่งเงิน 170 บาทที่เหลืออยู่นั้น สมาชิกสามารถเก็บไว้ใช้สำหรับการซื้อสินค้าในครั้งต่อๆได้ค่ะ
ธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business: B2B) หมายถึง ธุรกิจที่มุ่งเน้นการให้บริการแก่ผู้ประกอบการด้วยกัน ตัวอย่างเช่นผู้ประกอบการในระดับเดียวกัน หรือต่างระดับกันก็ได้ หรือผู้ผลิตกับผู้ผลิต ผู้ผลิตกับผู้ส่งออก ผู้ผลิตกับผู้นำเข้าผู้ผลิตกับผู้ค้าส่งและค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้มีความสำคัญมากที่สุด ตัวอย่าง Website เช่น บริษัทไมโครซอฟต์เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ (www.micorsoft.com) บริษัทซิสโกเป็นบริษัทขายอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์ทางด้านเครือข่ายอื่นๆ โดยขายผ่านเว็บแบบธุรกิจต่อธุรกิจ (www.cisco.com) ขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภค (http://www.tesco.co.th/th/index.html) ขายสินค้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ(http://www.value.co.th/th/main.asp) และ ตลาดซื้อขายออนไลน์ (http://www.b2bthai.com/) เป็นต้น
การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange: EDI)
เป็นเทคโนโลยีที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการรับ-ส่งเอกสารจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งโดยส่งผ่านเครือข่าย เช่น โทรศัพท์ สายเคเบิล ดาวเทียม เป็นต้น แทนการส่งเอกสารโดยพนักงานส่งสารหรือไปรษณีย์ ระบบ EDI จะต้องใช้รูปแบบของเอกสารที่เป็นมาตรฐานเพื่อให้หน่วยงานทางธุรกิจหรือองค์กรต่างๆ สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับมาตรฐานของ EDI ในประเทศไทยถูกกำหนดโดยกรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่นำระบบนี้มาใช้งาน คือ มาตรฐาน EDIFACT (Electronic Data Interchange for Administration, Commerce and Transport)ตัวอย่างของเอกสารที่นำมาใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยระบบ EDI เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ใบเสนอราคา ใบกำกับสินค้า ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี เป็นต้น
บริษัทผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange : EDI) เป็นองค์กรที่ให้บริการ EDI ทางการค้าระหว่างประเทศแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ซึ่งได้ แก่ กรมศุลกากร บริษัทการบินไทย (มหาชน) จำกัด การท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรมการค้าต่าง ประเทศ ตลอดจนผู้ใช้ในภาคเอกชน
ประโยชน์ของการใช้ระบบ EDI
1. ลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดส่งเอกสาร
2. ลดเวลาทำงานในการป้อนข้อมูล ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องและลดข้อผิดพลาดจากการป้อนข้อมูลที่ซ้ำซ้อน
3. เพิ่มความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร
4. ลดค่าใช้จ่ายและภาระงานด้านเอกสาร
5. แก้ปัญหาอุปสรรคทางภูมิศาสตร์และเวลา
ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวบนโลกอินเตอร์เน็ต
ในยุคปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านธุรกิจ ธุรกรรมทางการเงิน เศรษฐกิจ การติดต่อสื่อสาร อัพเดทข่าว หา-แลกเปลี่ยนข้อมูล เล่นเกมส์ออนไลน์ เเละอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและมีบทบาทในสังคมปัจจุบันเป็นอย่างมาก แต่….เรายังลืมไปว่าสิ่งเราทำอยู่บนโลกอินเตอร์นั้น อาจจะมีคนบางกลุ่มจากในเงามืด พยายามที่จะขโมยข้อมูลของคุณ โดยที่คุณไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำหรือที่เรียกว่า Hacker นั้นเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากนัก ดังนั้น บทความนี้ จะเสนอวิธีป้องกันภัยร้ายจากโลกอินเตอร์แบบง่ายๆ ที่ทุกคนก็สามารถทำได้ ดังนี้
1. พยายามไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่นชื่อนามสกุลจริง ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน บนโลกอินเตอร์เน็ต
2. การทำธุรกรรมการเงิน ควรสังเกต link หรือฟอร์มของหน้าเว็บไซต์นั้นด้วยว่าเป็นของจริง เพราะบางครั้งอาจจะมี link หรือฟอร์มเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาดักไว้ อาจทำให้คุณเข้าใจผิดก็เป็นได้
3. ควรหลีกเลี่ยงการการดาวโหลดไฟล์จากอินเตอร์เน็ต หรือเข้า link เว็บไซต์แปลกๆ ที่คุณไม่รู้จักหรือคุ้นเคย ซึ่งอาจจะส่งมาทาง E-mail, Facebook, Line เป็นต้น
4. อัพเดทโปรแกรมตรวจสอบไวรัสและอัพเดทไฟร์วอลล์ (Firewall) สม่ำเสมอ
5. การใช้รหัสผ่าน (Username & Password) การใช้รหัสผ่าน (Username & Password) ควรตั้งรหัสผ่านที่เข้าใจได้ยาก โดยให้มีตัวอีกษรพิมพ์เล็ก-พิมพ์ใหญ่ ตัวเลข อักษรอักขระผสมกันไป และควรเปลี่ยน password บ่อย ๆ เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง
6. ถ้าจำเป็นต้องใช้ WIFI สาธารณะ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงแรม แนะนำให้ใช้บริการ VPN หรือบริการ BullVPN ของเราเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ เพราะข้อมูลจะถูกเข้ารหัสไว้ ฉะนั้นปลอดภัยแน่นอน
วิวัฒนาการของไฟร์วอลล์
ไฟร์วอลล์ (Firewall) คือระบบรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำหน้าที่เปิดและปิด การเข้าถึงจากภายนอก (เช่น จากอินเตอร์เน็ต) เข้าถึงเครือข่ายภายใน (เช่น เครือข่ายภายในองค์กร หรือคอมพิวเตอร์ส่วนตัว) ได้ อาจพูดได้ว่า Firewall ก็เหมือนยามหน้าประตูของคอมพิวเตอร์ ซึ่งการเข้าถึงจากภายนอกจะต้องผ่านให้ Firewall ตรวจสอบก่อนว่าสามารถเข้าระบบเครือข่ายภายในได้หรือไม่ Firewall โดยจะมีการกำหนดกฎระเบียบบังคับใช้เฉพาะเครือข่าย ซึ่งหมายความว่าหากการเข้าถึงนั้นถูกต้องตามที่ Firewall กำหนดไว้ ก็จะเข้าถึงเครือข่ายได้ หากไม่ตรงก็จะเข้าถึงไม่ได้ (หรือที่เรียกกันว่า Default deny นั่นเอง)
ยุคที่ 1 Access Control Lists (การกำหนดเงื่อนไขเข้าถึงเครือข่ายภายใน)
ในช่วงต้น Firewall จะทำงานโดยใช้การกำหนดเงื่อนไขเข้าถึงเครือข่ายภายใน หรือ Access Control Lists (ACLs) โดยเฉพาะในเราเตอร์ส่วนใหญ่ ACLs คือกฎระเบียบที่เขียนขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการเข้าถึงจากภายนอกว่า อนุญาตให้เข้าถึงเครือข่ายภายในได้หรือไม่ เช่น การเข้าถึงจากภายนอกของ IP address 172.168.2.2 จะเข้าใช้เครือข่ายภายในไม่ได้ หรือแม้แต่การอนุญาตให้ port 80 ของ IP address 172.168.2.2 เข้าถึงเว็บเซิร์ฟเวอร์ IP 10.10.10.201ได้ACLs มีประโยชน์ตรงที่สามารถกำหนดได้ว่าต้องการให้ส่วนใดเข้าถึงบ้างและยังมีประสิทธิภาพสูงแต่ว่าไม่สามารถอ่านpacket headers ก่อนหน้าได้ ACLs จะทำหน้าที่เพียงแค่อ่านข้อมูลการเข้าถึงเท่านั้น ดังนั้นการคัดกรองการเข้าถึงจากภายนอกโดยใช้ACLsเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันการคุกคามข้อมูลภายในจากภายนอกได้
ยุคที่ 2 Proxy firewalls
Proxy firewalls จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง โดยจะรับคำขอเข้าถึงข้อมูลภายใน โดยอ้างตัวเองว่าเป็นเครือข่ายภายใน หลังจากที่ตรวจสอบคำขอแล้วให้เข้าถึงข้อมูลภายในได้ ก็จะส่งข้อมูลไปให้เครือข่ายภายใน เครือข่ายภายในก็จะส่งข้อมูลกลับมาให้ Proxy แล้ว Proxy ก็จะทำให้ข้อมูลนั้นเป็นส่งไปให้ภายนอก โดยใช้ชื่อของ Proxy server กระบวนการนี้ Proxy firewall จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเครือข่ายภายในกับภายนอกไม่ให้เชื่อมต่อกันโดยตรง Proxy firewall สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทั้งหมด และยังทำหน้าที่คัดกรองให้ด้วย โดยอ้างอิงจากข้อมูลระดับย่อย การทำ Access Control จึงเป็นที่น่าสนใจของเหล่าแอดมินเครือข่ายต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามแอพพลิเคชั่นแต่ละตัวก็ต้องมี proxy เป็นของตัวเองในระดับแอพพลิเคชั่น (application-level) Proxy-firewalled เองก็เผชิญปัญหาด้านประสิทธิภาพของการเข้าถึงข้อมูลและข้อจำกัดด้านการรองรับแอพพลิเคชั่นต่างๆ รวมไปถึงการทำงานทั่วไปด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะนำไปสู่ปัญหาด้านการควบคุมข้อมูล ซึ่งอาจทำให้ถูกดึงข้อมูลภายในออกไปภายนอกได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึงไม่ค่อยใช้ proxy firewalls กัน แม้ว่า Proxy firewall จะเป็นที่นิยมมากในช่วงปี 1990 ปัญหาด้านประสิทธิภาพและการควบคุมข้อมูลก็ทำให้อัตราการนำ proxy firewalls ไปใช้ในเครือข่ายภายในลดลงไปมาก
ยุคที่ 3 Stateful Inspection firewalls
Stateful inspection หรือ stateful filtering เป็น Firewall ในยุคที่ 3 ของเทคโนโลยี Firewall โดยที่ Stateful filtering จะทำหน้าที่ 2 อย่าง หน้าที่แรกคือแบ่งการเข้าถึงโดยใช้พอร์ทปลายทาง (destination port) เช่น tcp/80 = HTTP และหน้าที่ที่สองก็คือติดตามสถานะการเข้าถึงข้อมูลโดยดูแลการโต้ตอบระหว่างภายในกับภายนอกตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการเชื่อมต่อ
หน้าที่ทั้งสองที่กล่าวไปข้างต้นจะช่วยให้การทำงานของการควบคุมการเข้าถึงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น stateful inspection firewalls ไม่เพียงแต่เปิดปิดการเข้าถึงจากภายนอกโดยอ้างอิงจาก port กับ protocol เท่านั้น แต่ยังดูที่ประวัติย้อนหลังของ packet ในตารางสถานะ packet ด้วย เมื่อ stateful firewalls รับ packet มา ก็จะตรวจสอบในตารางสถานะของ packet ว่าเคยเชื่อมต่อกับระบบแล้วหรือยัง หรือแม้แต่ตรวจดูว่า packet นั้นมาจาก host ภายในหรือไม่ หากว่าไม่พบข้อมูลใดๆ packet ก็จะถูกส่งไปตรวจสอบตามกฎระเบียบการเข้าถึงข้อมูลภายใน
Firewall แบบ stateful filtering จะโปร่งใสและให้ผู้ใช้งานควบคุมได้ โดยการเพิ่มการป้องกันที่ซับซ้อนให้กับโครงสร้างข้อมูล แต่ stateful firewalls ก็ยังเผชิญปัญหาด้านการรับมือกับซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยอย่างเช่น SIP หรือ H.323
ยุคที่ 4 Unified Threat Management (UTM)
Unified Threat Management (UTM) ก็คือการรวบรวมการทำงานของ stateful inspection firewalls, แอนตี้ไวรัส, และ IPS ไว้ในที่เดียวกัน ต่อมา UTM ก็มีฟังก์ชั่นการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายเพิ่มขึ้น
ให้จำไว้ว่า UTMs จะต้องอาศัยการทำงานของ Firewall แบบ stateful inspection ซึ่งจะปูทางการทำงานให้ UTM เพราะฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆของ UTM จะทำงานตามระบบรักษาความปลอดภัยที่วางไว้ ดังนั้นหากเงื่อนไข access control วางมาดี การทำงานต่างๆใน Firewal ในเครือข่ายก็จะดีตามด้วย ถึงแม้ว่า UTMs จะมีฟังก์ชั่นด้านความปลอดภัยหลายๆอันรวมกัน แต่เทคโนโลยี access control เบื้องต้นของ Firewall ก็ยังเหมือนเดิม
ยุคที่ 5 Next-generation firewalls (Firewall ยุคล่าสุด)
Next-generation firewalls (NGFWs) ถูกออกแบบขึ้นมาให้ต่อสู้กับแอพพลิเคชั่นและมัลแวร์ที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์หรือมัลแวร์ต่างก็ทำพลาดในการตั้งค่าการเข้าถึงแบบ long-standing port-based เพราะใช้เทคนิคการเลี่ยงตัว port ในการพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ ทุกวันนี้มัลแวร์ต่างๆก็เลยแฝงตัวติดอยู่กับแอพพลิเคชั่นเข้าไปยังเครือข่ายภายใน แล้วก็สร้างเครือข่ายระหว่างตัวมัลแวร์ในเครือข่ายภายในอีกที NGFWs จะทำหน้าที่เป็นแพลทฟอร์มด้านความปลอดภัยที่จะช่วยตรวจสอบการเข้าใช้เครือข่ายจากภายนอก Gartner Inc. ก็ได้ทำการวิจัยเทคโนโลยีนี้ แล้วก็อธิบายคุณสมบัติของ NGFWs ไว้ดังนี้
· Standard capabilities of the first-generation firewall:
มีความสามารถเหมือน Firewall ยุคแรกๆ: เป็นเสมือนการรวมฟังก์ชั่นการกรอง packet, การตรวจสอบ stateful protocol, network-address translation (NAT), การเชื่อมต่อแบบ VPN, et cetera. ไว้ในที่เดียว
· Truly integrated intrusion prevention:
สามารถป้องกันการบุกรุกจากภายนอกได้ทั้งหมด: รองรับปัญหาการคุกคามจากภายนอก และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากการทำงานของ IPS เมื่อฟังก์ชั่นการทำงานทั้งสองอย่างนี้ทำงานร่วมกันผ่าน NGFW ย่อมทำงานได้ดีกว่าทำงานแบบแยกส่วน
· Full stack visibility and application identification:
โปร่งใสและชี้จุดได้: สามารถบังคับใช้เงื่อนไขการเข้าถึงเครือข่ายภายในในระดับแอพพลิเคชั่น โดยไม่ต้องอาศัย port และ protocol
· Extrafirewall intelligence:
เป็น Firewall ขั้นสูง: สามารถรับข้อมูลจากภายนอกเข้ามาและประมวลผลเพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยของตัวเอง เช่น สร้างแบล็คลิสการเข้าถึงที่ไม่น่าไว้ใจ และสร้างไวท์ลิสของการเข้าถึงที่อนุญาตให้ใช้เครือข่ายภายในได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างการเข้าถึงต่างๆให้ผู้ใช้งานหรือกลุ่มผู้ใช้งานได้ โดยใช้ชื่อผู้ใช้งานที่แอคทีฟในระบบ
· Adaptability to the modern threat landscape:
ปรับตัวเข้ากับการคุกคามต่างๆได้ : รองรับการอัพเกรดเพื่อเชื่อมต่อกับส่วนข้อมูลใหม่ๆได้ และยังรองรับเทคนิคใหม่ๆที่ใช้ตรวจสอบการคุกคามที่อาจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
· In-line support รองรับการทำงานที่ลดลงหรือการหยุดทำงานของระบบ
พร็อกซีเซิร์ฟเวอร์
ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ พร็อกซีเซิร์ฟเวอร์ (อังกฤษ: proxy server) หรือเรียกโดยย่อว่า พร็อกซี คือเซิร์ฟเวอร์ (ระบบคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมประยุกต์) ที่ทำงานโดยการเป็นตัวกลางในการหาข้อมูลตามคำขอของเครื่องลูกข่ายจากเซิร์ฟเวอร์อื่นๆ กล่าวคือเครื่องลูกข่ายเชื่อมต่อไปที่ พร็อกซีเซิร์ฟเวอร์เพื่อขอใช้งานบางบริการ เช่น ไฟล์ การเชื่อมต่อ เว็บเพจ หรือทรัพยากรต่าง ๆ จากเซิร์ฟเวอร์อื่น จากนั้น พร็อกซีเซิร์ฟเวอร์จะทำการคัดกรองด้วยกฎที่ตั้ง ตัวอย่างเช่น คัดกรองจาก หมายเลขไอพี, Protocol หลังจากนั้นถ้าการขอผ่านการคัดกรอง พร็อกซีเซิร์ฟเวอร์จะจัดหาข้อมูลตามคำร้องขอจากเซิร์ฟเวอร์อื่นแทนเครื่องลูกข่าย....
พร็อกซีเซิร์ฟเวอร์มีสองจุดประสงค์คือ:
· เพื่อให้เครื่องลูกข่ายซ่อนตัว (โดยส่วนใหญ่ เพื่อความปลอดภัย)
· เพื่อความเร็วของการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น, โดยการเก็บเว็บเพจจากเว็บเซิร์ฟเวอร์
พร็อกซีเซิร์ฟเวอร์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการขอและการตอบกลับเรียกว่า Gateway หรือในบางครั้ง tunneling proxy
ลายเซ็นดิจิทัลคืออะไร
ลายเซ็นดิจิทัล คือตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเข้ารหัสลับและมีการรับรองความถูกต้องบนข้อมูลดิจิทัล เช่น ข้อความอีเมล แมโคร หรือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ลายเซ็นจะช่วยยืนยันว่าข้อมูลนั้นมาจากผู้เซ็นชื่อและข้อมูลนั้นไม่ถูกเปลี่ยนแปลง
ใบรับรองการเซ็นชื่อและผู้ให้บริการออกใบรับรอง
ใบรับรองการเซ็นชื่อ เมื่อต้องการสร้างลายเซ็นดิจิทัล คุณจำเป็นต้องมีใบรับรองการเซ็นชื่อซึ่งจะใช้พิสูจน์ข้อมูลเฉพาะตัว เมื่อคุณส่งแมโครหรือเอกสารที่มีลายเซ็นดิจิทัล ยังจะเป็นการส่งใบรับรองและคีย์สาธารณะของคุณไปด้วยใบรับรองจะออกให้โดยผู้ให้บริการออกใบรับรองและเปรียบเสมือนใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งสามารถถูกเพิกถอนได้ ใบรับรองมักจะมีใช้ได้เป็นเวลาหนึ่งปี หลังจากนั้นจะต้องทำการต่ออายุหรือขอรับใบรับรองการเซ็นชื่อใหม่เพื่อสร้างข้อมูลเฉพาะตัว
ผู้ให้บริการออกใบรับรอง (Certificate authority หรือ CA) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่คล้ายกับเจ้าหน้าที่รับรองเอกสาร โดยองค์กรนี้จะออกใบรับรองดิจิทัล ใบรับรองลายเซ็น เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของใบรับรองและติดตามว่าใบรับรองใดที่ถูกเพิกถอนหรือหมดอายุไปแล้ว
การรับประกันลายเซ็นดิจิทัล
เงื่อนไขและข้อกำหนดต่อไปนี้จะแสดงการรับประกันที่ได้รับจากลายเซ็นดิจิทัล
· ความถูกต้อง ผู้เซ็นชื่อได้รับการยืนยันว่าเป็นบุคคลผู้ที่เซ็นชื่อนั้น
· ความสมบูรณ์ เนื้อหาไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เสียหายนับตั้งแต่ได้รับการเซ็นชื่อแบบดิจิทัล
· การป้องกันการปฏิเสธความรับผิดชอบต่อข้อมูล พิสูจน์กับทุกฝ่ายถึงที่มาของเนื้อหาที่มีลายเซ็นนั้น การปฏิเสธความรับผิดชอบต่อข้อมูลหมายถึงการที่ผู้เซ็นชื่อปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับเนื้อหาที่ได้เซ็นแล้วนั้น
· การรับรองเอกสาร ลายเซ็นในไฟล์ Microsoft Word, Microsoft Excel หรือ Microsoft PowerPoint ซึ่งมีการประทับเวลาด้วยเซิร์ฟเวอร์การประทับเวลาที่ปลอดภัยจะมีความถูกต้องของการรับรองเอกสารภายใต้สถานการณ์บางอย่าง
เมื่อต้องการสร้างความมั่นใจเหล่านี้ ผู้สร้างเนื้อหาจะต้องเซ็นชื่อแบบดิจิทัลในเนื้อหาดังกล่าวโดยใช้ลายเซ็นที่เป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้
· ลายเซ็นดิจิทัลนั้นถูกต้อง
· ใบรับรองที่เกี่ยวข้องกับลายเซ็นดิจิทัลเป็นใบรับรองปัจจุบัน (ยังไม่หมดอายุ)
· บุคคลหรือองค์กรที่เซ็นชื่อ ที่เรียกว่าผู้ประกาศ เป็นผู้ที่เชื่อถือได้
· ใบรับรองที่เกี่ยวข้องกับลายเซ็นดิจิทัลถูกออกให้แก่ผู้ประกาศที่ลงนามโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง (CA) ที่มีชื่อเสียง
ทีมา : https://support.office.com/th-th/article/%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8
%A2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87-8186cd15-e7ac-4a16-8597-22bd163e8e96
ทีมา : https://support.office.com/th-th/article/%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8
%A2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87-8186cd15-e7ac-4a16-8597-22bd163e8e96
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น